เมื่อเอ่ยถึงเมืองที่ต้องห้าม “พลาด” เมืองเลย น่าจะจัดอยู่อัดดับต้นๆ ของเมืองไทยเรา หรืออีกนัยหนึ่งคือเมืองที่ผู้คนไปไม่ถึงสักที คือเลยตลอดที่คนมักเอาไปพูดหยอกล้อเล่นกันสนุกสนาน ด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่น ของเทือกเขาหลายๆแห่ง แม่น้ำหลายสาย ตลอดจนเป็นเมืองชายแดนที่ติดต่อกับเพื่อนบ้านคือ สปป.ลาว มีเพียงแม่น้ำเหือง และแม่น้ำโขงกั้นพรมแดนเอาไว้ อีกอย่างที่ผู้คนยังไปไม่ค่อยจะถึงนั้นเพราะว่า เมืองเลยมากมายด้วยสถานที่ท่องเที่ยว ไม่ว่าจะ ภูกระดึง ภูหลวง ภูเรือ ภูลมโล ผีตาโขน ด่านซ้าย วัฒนธรรมเมืองเก่า เชียงคาน เป็นต้น ทำให้ผู้คนแม้ว่าเคยมาแล้ว แต่ก็ยังอยากจะมาอีกทีก็ว่าได้
จากจุดแข็งทางด้านการท่องเที่ยว และสภาพอากาศที่หนาวก่อนและเย็นเป็นที่สุดของเมืองไทย ทำให้เรา อยากจะเพิ่มจุดพักผ่อน จุดที่สองของสถานที่พักยามวัยเกษียณเมื่อลงมาจากเทือกเขา คือ ชราชาเร่ต์ ที่อำเภอ น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ที่โอบล้อมไปด้วยขุนเขาต่างๆมากมาย มาเปลี่ยนบรรยากาสหาที่เรียบๆและติดกับแม่น้ำสักแห่ง เมื่อต้นปี 2557 ได้มีโอกาสร่วมสังเกตุการทำพิธีเปิดสถานีบริการน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอ เชียงคาน ได้เห็นการออกแบบตกแต่งสถานที่ อาคาร ตลอดจนจุดถ่ายรูป คอนวิเนี่ยนสโตร์ อาคารขายของฝาก ล้วนแล้วแต่เป็นเอกลักษณ์ เป็นที่ตื่นตาและแปลกใจของผู้คนที่พบเห็น หรือว่าเราพึ่งจะเคยเห็นหรือเปล่า เพราะครั้งแรกที่เคยมาเยือน เชียงคาน สวยงามประทับใจอย่างบอกไม่ถูกก็ว่าได้ พอตกตอนเย็นได้มีโอกาสเดินตลาดมืด (คนลาวหลวงพระบางเรียก) บนถนนคนเดินเรียบแม่น้ำโขง ได้ชมและพบปะพ่อค้าแม่ขาย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ออกมาแสดงดนตรีพื้นบ้านเปิดหมวกขอบริจาค ขายขนมโบราณ ที่สำคัญที่สุด เรือนบ้านพักอาศัยก็ล้วนแต่เป็นอาคารบ้านไม้แบบโบราณคงความเป้นเชียงคาน ทุกๆหลังคาเรือน
เมื่อกลับจากเชียงคาน ทำให้ครุ่นคิดตลอดเวลาว่าเราน่าจะทำอะไรสักอย่างที่น่าจะเกิดประโยชน์กับ ชุมชนและเราเองเมื่อยามอยากจะมาสัมผัสวัฒนธรรม และธรรมชาติ ของบ้านเมืองนี้ จึงได้สืบค้นหา คนที่ต้องการจะขายที่ดินพอเลือกมาสองสามที่ สรุปเลยว่าใช่ที่นี่ มีสายน้ำเลยไหลผ่าน แล้วมีแอ่งน้ำติดที่ดิน ชาวบ้านเขาเรียกว่า หัวแก่ง ก่อนที่จะไหลลอดผ่านช่องเขาสองลูก เพื่อจะไหลลงต่อไปยังแม่น้ำโขง อีกประมาณสิบกว่ากิโลเมตร ซึ่งสายน้ำเลยก่อกำเนิดจากภูหลวง ไหลลงมาผุดผ่านเลยดั้น ณ บ้านห้วยกะโปะ ต.หลักด่าน อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ จากนั้ไหลผ่าน อ.ภูหลวง อ.วังสะพุง อ.เมืองเลย และลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.เชียงคาน นับได้ว่าเป็นสายน้ำที่สำคัญ ที่หล่อเลี้ยงชุมชนที่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำ ด้วยความมั่นคงและซื่อสัตย์ตลอดระยะเวลาหลายร้อย หลายล้านปีไม่มีใครทราบได้
พบแล้วเนื้อคู่หรือที่ดินแปลงที่เราชอบ ขนาด 4ไร่ ครึ่ง ติดแม่น้ำประมาณ 150 เมตร ติดถนนลาดยางประมาณ 140 เมตร มีโฉนดแปลงสุดท้ายก่อนจะเป็นที่ดินสาธารณะต่อไป ขนาบข้างด้วยภูเขา สามลูก สามทิศทาง สมแล้วครับ สวิสเซอร์แลนด์แห่งเมืองไทย เมืองแห่งอ้อมอกขุนเขา รับรองว่าจะไม่ปล่อยให้ผ่านมือไป จึงตามไปพบเจ้าของล่าสุดซึ่งอาศัยอยู่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พี่ผู้ใหญ่ใจดีเสนอขายพร้อมอวยพรให้เราสมหวังที่ตั้งใจ และนัดกันโอน 1 พ.ค 2557 วันกรรมกร อย่างเรา ที่ไม่ชอบหยุดนิ่ง ชอบหาโจทย์ยากๆให้กับตัวเอง จำเป็นอีกแล้วที่ต้องขายทั้งหุ้น ยืมทั้งครอบครัว เมื่อครบแล้วก็ได้สิ่งที่ตั้งใจไว้ ก็เริ่มลงมือ ปรับที่ดินให้สูงเท่ากับระดับถนน แล้วจะปลูกบ้านพักง่ายๆให้กับตัวเองเพื่อใช้เป็นจุดพักผ่อนซักหน่อย
เมื่อแล้วเสร็จหลังแรก ก็ไม่รอช้าเริ่มก่อสร้างหลังที่สองทันที ที่นี้ขอสัมผัสวิวแม่น้ำเลยบริเวณหน้าบ้านบ้าง
พอแล้วเสร็จทั้งสองหลัง ก็ล่วงเลยมาถึงเดือน เกิดของครอบครัวเราคือเกิดเดือนเดียวกัน เลยขอสร้างห้องน้ำถวายวัดในหมู่บ้าน 4ห้อง และให้โรงเรียนบ้านหัวแก่ง อีก 4ห้อง ตามปณิธาณที่ตั้งใจไว้ตลอดว่า ต้องรู้จักให้ อย่ามาเพียงหวังอยากจะเอาเพียงเท่านั้น(Give before take) ชุมชนต้องมาก่อนเสมอ ต้องเข้าถึงจิตใจเขาให้จงได้ แล้วเราจะได้ใจเขาอย่างถาวรและใสซื่อมาเป็นทุน หมู่บ้านหัวแก่ง ต.หาดทรายขาว อ.เชียงคาน จ.เลย เป็นหมู่บ้านเล็กไม่ถึง 70หลังคาเรือน มีวัดประจำหมู่บ้านและมีพระอยู่เพียงองค์เดียว มีโรงเรียนหนึ่งแห่งมีคุณครู 3คน และนักเรียน 27 คน จาก ป.1-ม.3 บางชั้นเรียนมี 1คน หรือปีนี้ ป.6 ไม่มีสักคน เวลาเรียนก็ช่วยๆกันสอน หรือบางวิชาก็เปิด ทีวี ของโรงเรียนไกลกังวล ดูไปเป็นรายวิชา ห้องสุขา ไม่ต้องพูดถึงครับงบไปไม่ถึงแน่นอน ผู้คนจะนับถือศาสนาพุธกันถ้วนหน้าและที่สำคัญวันพระ จะไม่ทำงานกัน บ้างก็พักหรือไม่ก้ไปวัดกัน มันคือธรรมเนียมประเพณี ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน
จากวันที่เราได้ที่ดินแปลงนี้มาก็มาถึงเดือนตุลาคม 2558 ครบรอบปีที่เริ่มทำบุญบ้าน หรือ17เดือนจากเริ่มต้นโครงการ ต้องเดินทางขึ้น-ล่อง (รังสิต – เชียงคาน ประมาณ 540 กม.) ต้องปรับดิน ปลูกต้นไม้กันเอง เพราะที่เดิมเขาปลูกแต่ข้าวโพดกัน ไม่มี ต้นไม้ใหญ่ให้ได้ใช้ร่มเงาแต่อย่างใด เมื่อได้พ่อ-แม่กำนัน มาร่วมอุดมการแล้วก้อ ตลุยปลูกกันเอาจริงเอาจัง ทั้งข้าว เผือก ถั่วลิสง ข้าวโพดหวาน ผักทุกชนิดที่เราจะกินได้ คะน้า กระหล่ำ ผักกาด ถั่วฝักยาว พริก มะเขือ มะนาว มะกรูดเป็นต้น พร้อมทั้งกระชังเลี้ยงปลาไว้เป้นแหล่งเสบียงยามต้องการ นับได้ว่าผืนดินแผ่นนี้ล้วนแล้วอุดมสมบูรณ์ยิ่ง เหมาะแก่การอยู่อาศัย ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว บนดินมีของที่ปลูกไว้กินก็สมบูรณ์ดีจะเห็นจากต้น-รวงข้าว สูงใหญ่เหลือเกิน
เมื่อพร้อมทั้งอาหาร การกิน รวมทั้งที่พักอาศัยมีจำนวนห้องพัก 12ห้อง แล้วเสร็จจึงคิดจะตั้งชื่อ บ้านพักขึ้นมาเพื่อให้เป็นที่จดจำและเรียกขานชื่อได้ ชื่อ สายวารี รีสอร์ท เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้ กับบุพการีที่ท่านได้เสียสละหลายอย่าง หลายๆครั้งให้ลูกๆได้มีโอกาสมาถึงวันนี้ได้ จึงควรจดจำชื่อนี้ไว้ในความทรงจำของลูกหลาน ญาติมิตรที่รักใคร่กัน จะได้ช่วยกันสืบสาน ให้เป็นไปตามเจตนารมย์ที่จะร่วมกันสร้างสถานที่พักให้กับผู้สูงวัย หลังเกษียณจะได้มาอยู่ร่วมกัน มีกิจกรรม และสันทนาการร่วมกัน ณ ดินแดนแห่งนี้ สามารถพึ่งพิงตัวเองได้ รู้จักทำมาหากินเองได้ อยู่กันอย่างพอเพียง ไม่พึ่งพาปัจจัยภายนอกมากเกินไป หากท่านใดได้มีโอกาสมาสัมผัส บรรยากาศ รอบๆเราจะเป็นบ้านไม้เก่า ซึ่งได้มาจากชาวบ้านรื้อมาขายให้ ปลูกกันอย่างเรียบง่าย เป็นแบบบ้านสไตร์บ้านเชียงคาน ความสงบเงียบ นั้นคือนิยามที่ตั้งไว้ หากยึดติดความเป็นคนเมืองที่ติดตัว ท่านมาด้วยล่ะก้อ ท่านมาผิดที่แล้วนะครับ เพราะนี้คือ บ้านไม้ สายวารี รีสอร์ท ที่จะมีแสงหิ่งห้อย และเสียงสายน้ำไหล รบกวนท่านยามค่ำตลอดทั้งคืน....เลย